การประเมินมูลค่าและกระบวนการเรียนรู้

การประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์และการพัฒนากระบวนการเรียนรู้
  กรณีศึกษา ค้างคาวเล็บกุด

คันธรัตน์  เพ็ชรมุณี   

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบูรณาการระหว่างศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ ชีววิทยาของค้างคาว  การประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ และการสร้างกระบวนการเรียนรู้  มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินมูลค่าของค้างคาวเล็บกุดด้านการใช้ประโยชน์ ( use value ) โดยเน้นเพาะมูลค่าการผสมพันธุ์พืชและปุ๋ยมูลค้างคาว  ที่พบในถ้ำในเขตจังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล  2) สร้างประบวนการเรียนรู้เรื่องค้างคาวให้กับกลุ่มเป้าหมายที่อาศัยอยู่ใกล้กับถิ่นที่อยู่ของค้างคาวเล็บกุด  โดยอาศัยข้อมูลด้านชีววิทยาของค้างคาวและการประเมินมูลค่างทางเศรษฐศาสตร์ และศึกษาผลการสร้างกระบวนการเรียนรู้
การศึกษาด้านชีววิทยาของค้างคาว ทำโดยการค้นคว้าหนังสือ  ตำรา  เอกสาร  งานวิจัย  วารสาร  สื่อสิ่งพิมพ์  และอินเตอร์เน็ต เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนการดำเนินการกำหนดขอบเขตในการประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์  และสร้างกระบวนการเรียนรู้  การศึกษาด้านการประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์  ประเมินผลประโยชน์ของค้างคาวเล็บกุดในประเด็นหลัก 2 ประเด็น ได้แก่ การผสมพันธุ์พืชและปุ๋ยมูลค้างคาว  โดยใช้วิธีราคาตลาด  ในประเด็นการผสมพันธุ์พืชศึกษามูลค่าการช่วยผสมพันธุ์พืช 2 ชนิด คือ ทุเรียนและสะตอ ในประเด็นของปุ๋ยมูลค้างคาวศึกษามูลค่าปุ๋ยมูลค้างคาวของค้างคาวเล็บกุดที่สะสมภายในถ้ำ  และการศึกษาด้ายการสร้างกระบวนการเรียนรู้  เน้นการให้ความรู้ด้านความสำคัญของค้างคาวต่อระบบนิเวศและมูลค่าของค้างคาวที่มีต่อเศรษฐกิจ
ผลการวิจัยด้านการประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า ในปี 2550 มูลค่าในการผสมพันธุ์พืชในรัศมีหากินของค้างคาวเล็บกุด 8,806.97 ตารางกิโลเมตร  ครอบคลุมพื้นที่ 129 ตำบลใน 25 อำเภอของจังหวัดสงขลา  สตูล และพัทลุง มีมูลค่าทั้งหมด 434,846,824.71 บาท แบ่งเป็นมูลค่าการผสมพันธุ์ทุเรียน 347,881,423 บาท และมูลค่าการผสมพันธุ์สะตอมูลค่า 86,965,401.71 บาท และมีมูลค่าของปุ๋ยมูลค้างคาว 65,700 – 164,250 บาท
ผลการวิจัยด้านการสร้างกระบวนการเรียนรู้ พบว่า ผู้เข้าร่วมมีความรู้  ความเข้าใจก่อนและหลังแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แสดงว่ากระบวนการเรียนรู้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมมีความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับค้างคาวเพิ่มขึ้น  ด้านเจตคติ  ผู้เข้าร่วมมีเจตคติที่ดีต่อค้างคาว คือ เจตคติหลังการเรียนรู้สูงกว่าก่อนการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และในการประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมที่มีต่อภาพรวมของกระบวนการเรียนรู้อยู่ในระดับมากที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น